Uncategorized
สารฮิวมิก (กรดฮิวมิกและกรดฟุลวิก)
สารฮิวมิก (กรดฮิวมิกและกรดฟุลวิก)
กลไกที่สารฮิวมิกมีผลต่อการดูดธาตุอาหารของพืช
• สารฮิวมิกทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น
• สารฮิวมิกทำให้ความเป็นประโยชน์ของ ฟอสฟอรัส จุลธาตุในดินสูงขึ้น ดินในบางสภาพ ฟอสฟอรัสและจุลธาตุในดินละลายยาก เป็นเหตุให้พืชที่ปลูกในดินดังกล่าวขาดแคลนธาตุเหล่านี้ การใส่สารฮิวมิกในดินช่วยเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร
• สารฮิวมิกกระตุ้นการเจริญเติบโต ของรากแขนงและเพิ่มจำนวนขนราก ช่วยเพิ่มพื้นที่สำหรับการดูดธาตุอาหาร จึงทำให้รากดูดธาตุอาหารได้มากกว่าเดิม
• สารฮิวมิกเพิ่มกิจกรรมของเอนไซม์ H+ATPase และเอนไซม์ที่ควบคุมการใช้ประโยชน์ไนเทรตขั้นตอนแรกที่ออกซินควบคุมให้เซลล์พืชขยายขนาด คือกระตุ้นกิจกรรมของเอนไซม์ H+ATPase ที่เยื่อหุ้มเซลล์ ส่งผลให้มีการขับโปรตอน (H+) ออกไปที่ผนังเซลล์และเพิ่มสภาพกรดของผนังเซลล์ แล้วจึงมีกระบวนการอื่นๆ ตามมา ในที่สุดเซลล์สามารถขยายขนาดได้ สารฮิวมิกมีบทบาทในเรื่องนี้คล้ายออกซินและส่งผลให้เซลล์รากมีการขยายขนาด
• ผลของสารฮิวมิกต่อกระบวนการเมแทบอลิซึมในด้านต่างๆเนื่องจากเซลล์รากพืชดูดสารฮิวมิกได้ สารฮิวมิกจึงมีบทบาทในการเร่งการเจริญเติบโตของพืชเซลล์พืชดูดสารฮิวมิกได้ เซลล์รากสามารถดูดโมเลกุลของสารฮิวมิกที่มีขนาดเล็ก แล้วเคลื่อนย้ายสารดังกล่าวสู่ส่วนเหนือดิน และมีผลให้ การเจริญเติบโตของพืชดีขึ้น การดูดสารฮิวมิกของเซลล์เป็นดังนี้ รากพืชสามารถดูดกรดฮิวมิกและกรดฟุลวิกได้ แต่ดูดกรดฟุลวิกได้มากกว่ากรดฮิวมิกอัตราการดูดในช่วงแรกเร็วและเป็นกระบวนการแบบแพสซีฟ เนื่องจากเป็นการแพร่ของสารฮิวมิกเข้าไปและสะสมในผนังเซลล์ ส่วนหนึ่งเกาะแน่นอยู่กับผนังเซลล์ ในช่วงต่อมาแม้อัตราการดูดช้าลงแต่ยังดูดได้อย่างต่อเนื่องด้วยกระบวนการแบบแอกทีฟ ซึ่งใช้พลังงานโดยตรงจากเมแทบอลิซึม กลไกการดูดสารฮิวมิกส่วนที่มีโมเลกุลเล็กเป็นกลไกการดูดแบบแอกทีฟ ส่วนที่เซลล์ดูดได้ประมาณ 10-12% เคลื่อนย้ายทางท่อลำเลียงน้ำหรือไซเล็มไปยังส่วนเหนือดิน สารฮิวมิกกระตุ้นกระบวนการเมแทบอลิซึมในด้านต่างๆ เมื่อเติมสารฮิวมิกในสารละลายธาตุอาหาร ทำให้อัตราการหายใจพืชสูงขึ้น การฉีดพ่นทางใบช่วยเพิ่มปริมาณคลอโรฟิลล์ในใบและอัตราการสังเคราะห์แสงของใบ การเติมในสารละลายธาตุอาหารให้พืช ช่วยเพิ่มการสะสมน้ำตาลในเซลล์รากข้าวโพด จึงเพิ่มความดันออสโมซิสของเซลล์ ทำให้พืชทนแล้งกว่าเดิม สำหรับยาสูบที่ได้รับสารฮิวมิกมีปริมาณของสารอัลคาลอยด์ในใบเพิ่มขึ้น สารฮิวมิกกระตุ้นการหายใจ สารฮิวมิกช่วยเพิ่มอัตราการหายใจที่ไมโทคอนเดรีย ส่งเสริมกิจกรรมของวัฏจักรเคร็บ (Kreb cycle) และการสังเคราะห์อะดีโนซีนไตรฟอสเฟต (ATP) อันเป็นสารพลังงานสูง เพิ่มอัตราการสังเคราะห์แสงในใบ และการสร้างกรดอะมิโนเพื่อใช้ในการสังเคราะห์โปรตีน นอกจากนี้ สารฮิวมิกยังมีผลต่อการกำเนิดสัณฐานของพืช เช่นการเกิดและการพัฒนารูปร่างของใบพืชโดยทำหน้าที่กระตุ้นกิจกรรมของเอนไซม์ที่สำคัญต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว